การนวดเพื่อบำบัดรักษาโรค
การนวดเพื่อการรักษา/ฟื้นฟูสมรรถภาพ
หัตถเวชกรรม หรือ การนวด หมายความว่า การตรวจประเมิน การวินิจฉัย การบำบัด การป้องกันโรค ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก การนวดเพื่อบำบัดโรค หรือ นวดรักษา เป็นการกดจุดสำคัญบนร่างกายเกี่ยวโยงกับอาการปวด โดยใช้หลักการกดจุดกระจายลมที่ค้างในเส้น ให้เคลื่อนต่อไปได้อย่างปกติ ซึ่งแต่ละอาการปวดแต่ละตำแหน่ง ก็จะกดจุดรักษาต่างกันไป การนวดรักษาโรคดังต่อไปนี้ เช่น กลุ่มโรคลมปลายปัตคาด (อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง) ปวดหลัง ปวดบ่า ปวดแขน ปวดขา ไมเกรน อาการชาปลายมือ-ปลายเท้า หัวไหล่ติดเรื้อรัง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
ตัวอย่าง : กลุ่มโรคลมปลายปัตคาต (โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง) คอ บ่า ไหล่ หลัง
โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (Office Syndrome)
เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจาการการนั่งทำงานหรืออยู่ในอิริยาบทเดิมเป็นเวลานาน มักจะมีอาการปวดและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก มีอาการชาตามปลายนิ้วมือ ในช่วงแรกผู้ป่วยอาจแค่รู้สึกปวดเมื่อยเฉพาะจุดและสามารถหายได้เองถ้าหากพักการใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้น แต่ถ้าเกิดเป็นซ้ำๆ เรียกว่า Overuse injury เมื่อตรวจร่างกายพบกล้ามเนื้อแข็งเป็นลำ (taut band) และพบ จุดเจ็บ (trigger point) ซึ่งเมื่อกดไปแล้วคนไข้จะมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณอื่นที่เป็นกล้ามเนื้อ มัดเดียวกัน
ในทางการแพทย์แผนไทย
อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมในทางเวชกรรมแผนไทยได้วินิจฉัยว่าเกิดจากการขาดสมดุล ในการทำงานของธาตุในร่างกายทั้ง 4 ธาตุ โดยธาตุในร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากอาการ ออฟฟิศซินโดรม มีดังนี้
ธาตุดิน ได้แก่ มังสัง (กล้ามเนื้อ) และ นหารู (เส้นเอ็น)
ธาตุน้ำ ได้แก่ โลหิตตัง (เลือด)
ธาตุลม ได้แก่
อุธังคมาวาตา (ลมพัดจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน)
อโธคมาวาตา (ลมพัดจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง)
อังคมังคานุสารีวาตา (ลมพัดทั่วร่างกาย)
ธาตุไฟ ได้แก่ สันตัปปัคคี(ไฟอุ่นกาย)
กล่าวคือ ธาตุดินในร่างกายเริ่มเกิดการแข็งตัว ขวางการเคลื่อนของธาตุน้ำและธาตุลม ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก ส่งผลกระทบไปยังธาตุไฟในบริเวณดังกล่าว ทำให้บริเวณนั้นอุณหภูมิสูงขึ้น จึงเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ